สบายดี “หลวงพระบาง” ตักบาตรข้าวเหนียว เที่ยวตลาดเช้า ไหว้พระวัดเชียงทอง พิพิธภัณฑ์แห่งชาติฯ

English version is coming soon!
วันที่2 ที่หลวงพระบาง (วันที่เดินทางจริง 13 สิงหาคม 2552) วันนี้เราจะตักบาตรข้าวเหนียวกันแต่เช้าตรู่ ต่อด้วยเที่ยวตลาดเช้า จากนั้นไปวัดเชียงทอง และข้ามฝั่งไปวัดร้างและได้เที่ยวถ้ำโดยบังเอิญ ก่อนที่จะจบทัวร์บุกเบิกกันเองที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง
แทบจะต้องปฏิญาณตนหรือสาบานตนกันเลยว่า วันนี้ (วันที่สองของทริป) จะตื่นตอนตี 4 อาบน้ำแต่งตัวให้เสร็จภายในตีห้า ฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายเลยสำหรับเรา แต่ในที่สุด เราก็ทำได้ ตื่นและแต่งตัวเสร็จประมาณตีห้าครึ่ง (ช้าไปประมาณแค่ครึ่งชั่วโมงเอง)
จากนั้นก็เดินตรงไปทางไปไปรษณีย์ คิดว่าจะไปหาซื้อข้าวเหนียวใส่บาตรแถวนั้น และบริเวณสี่แยกนี้แหล่ะ ที่เขาว่าเป็นจุดที่จะได้เห็นขบวนพระสงฆ์เดินบิณฑบาตรเป็นริ้วขบวนอย่างสวยงาม
แต่แค่พวกเราเดินโผล่ไปบนถนนหลักเท่านั้น ก็มีแม่ค้า หาบเร่ เร่เข้ามาหาเราเลยทีเดียว เธอพยายามจะพูดขายข้าวเหนียวกับอาหารใส่บาตรให้พวกเรา ตอนแรกเราก็กลัวๆ กล้าๆ ว่าเขาจะขายราคาแพงให้พวกเรา

แม่ค้าชาวลาวคนนี้พยายามจะขายให้เราที่ชุดละ 80 บาท โดยจะได้ข้าวเหนียว 1 กระติ๊บ และก็ ข้าวต้มมัดแบบกลีบๆ อีก หนึ่งตะตร้า (เราคำนวณตามราคากรุงเทพฯบ้านเรา ข้าวเหนียวกระติ๊บนี้ราคาไม่เกิน 20 บาท ส่วนข้าวต้มมัดก็น่าจะอยู่ที่ตระกร้าละ 20 บาท) ก็เลยตัดสินใจซื้อไป 2 ชุด (เพราะเขาเดินหาบตามตลอด แถมกระเตงลูกมาด้วยอีก…)

พอตัดสินใจซื้อเสร็จสรรพ ก็เพิ่งรู้ว่าราคานี้ได้รวมโปรโมชั่น ปูเสื่อให้นั่งฟรีด้วย แม่ค้าเดินนำหน้าพวกเราและจัดแจงหาที่พร้อมปูเสื่อให้ด้วย! (มันก็ดีอย่างที่เขาปูเสื่อให้นั่ง เพราะเขารู้ว่าพระท่านจะเดินมาทางไหน จุดไหนดี…)

จุดที่พวกเรานั่งอยู่หน้าโรงแรมพูสีพอดี นักท่องเที่ยวในโรงแรมก็ออกมานั่งหาว วอดๆ รอพระกันเป็นแถว เช่นเดียวกับเราที่มานั่งรอขบวนบิณฑบาตรสักพัก ก็เริ่มเห็นพระท่านเดินมารำไร (เกือบหกโมงเช้าพอดี) เราเริ่มตื่นเต้น ไม่ใช่ไม่เคยใส่บาตร แต่ว่าตื่นเต้นว่าจะถ่ายรูปอย่างไร เพราะคงต้องอาศัยจังหวะถ่ายรูป พระท่านคงไม่สามารถหยุดเดินเพื่อถ่ายรูปกับเราได้

เราเห็นตอนเขาใส่บาตร คิดว่าง่าย หยิบใส่ หยิบใส่ แต่พอพระท่านเดินเป็นขบวนมาจริงๆ และท่านก็เดินเร็วมาก ข้าวเหนียวก็ร้อน หยิบทันบ้างไม่ทันบ้าง…

และเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อช่วงที่ใส่บาตรอยู่ ข้าวเหนียวหมด! ข้าวต้มมัดก็หมด! แต่ขบวนพระท่านยังคงมาเรื่อยๆ พวกเราเริ่มหันรีหันขวาง คิดว่าจะพอดีหรือว่าจะไปซื้อที่ไหนมาใส่ต่อ เมื่อแม่ค้าเห็นจังหวะว่าของเราหมด เขาก็รีบหยิบข้าวเหนียวกับขนมแล้วพยักหน้า ประมาณว่ารู้กันว่า เอาอีกไหม? เราก็พยักหน้ากลับ คุณแม่ค้าก็รีบวิ่งเอามาให้ถึงเสื่อทันที (จัดส่งให้ถึงที่ฟรีอีกด้วย)

เลยได้ใส่บาตรต่ออีกหลายขบวนพระท่านเหมือนกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น 320 บาท ที่ใส่บาตรไปวันนี้ 😉

หมดของใส่บาตร เราเดินไปดูขบวนพระที่บริเวณสี่แยกได้มองเห็นขบวนของพระท่านได้ประมาณสองสามขบวนฝั่งตรงข้ามก่อนที่ขบวนสุดท้ายจะลับตาไป (ประมาณ 6.20น.) ช่างเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจจริง ๆ (ดีใจที่ตื่นทันด้วย…)



จากนั้น คนที่มาใส่บาตรก็ทยอยเดินกลับ ภาพแม่ค้าที่ขายข้าวเหนียวให้เราก็เดินหาบกลับกันอย่างมีความสุข


แต่ตามที่เราได้วางแผนไว้ ว่าจะเดินไปดูตลาดเช้า ตลาดเช้าอยู่ทางด้านแม่น้ำโขง ใกล้ๆ กับสี่แยก คนเดินกันขวักไขว่ ของที่ขายกันส่วนใหญ่เป็นของสด ชาวต่างชาติเห็นก็คงแปลกตา เพราะเป็นตลาดสดติดแอร์ธรรมชาติ…

เสร็จสรรพยังไม่ทันเจ็ดโมงเช้า เราก็ขอกลับไปทานอาหารฟรีที่โรงแรมดีกว่า (ประหยัดดี) แล้วค่อยออกมาใหม่ พร้อมกับเหมารถตุ๊ก ตุ๊ก หน้าโรงแรมฯ ไปยังวัดเชียงทองกัน (แอบสับสนว่า เชียงทอง หรือ เซียงทอง เพราะว่า ภาษาอังกฤษ Xiengthong!)

วัดเชียงทองถือว่าเป็นวัดที่พลาดไม่ได้ในการท่องเที่ยวหลวงพระบาง เป็นวัดซึ่งเป็นที่รู้จักและได้บันทึกไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวมรดกโลก
แอบหาข้อมูลมาได้ว่า วัดเชียงทองสร้างในระหว่าง พ.ศ. 2102-2103 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง และ ล้านนา ก่อนที่พระองค์จะย้ายเมืองหลวงมายังนครหลวงเวียงจันทน์ไม่นานนัก วัดนี้ถือว่าเป็น “ วัดประตูเมือง” และยังเป็นท่าเทียบเรือด้านเหนือ สำหรับการเสด็จประพาสทางชลมารค ของกษัตริย์หลวงพระบาง วัดเชียงทองจึงได้รับการอุปถัมภ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะ ในสมัยเจ้ามหาชีวิต ศรีสว่างวงศ์ และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์สองพระองค์สุดท้ายของลาวด้วย …สิ่งที่โดดเด่นและสะดุดตาเมื่อเข้ามาในเขตพุทธาวาส ก็คือลวดลายประดับตามฝาผนังพระอุโบสถต่างๆ ด้วยลวดลายปิดทองฉลุบนพื้นรักสีดำ เล่าเรื่องพุทธประวัติพระสุธน-มโนราห์ ทศชาติชาดกและภาพนิทานเพื่อนบ้าน
ที่โดดเด่นอีกอย่างก็คือ วิหารชมพู เป็นวิหารเล็กๆ ตกแต่งด้วยกระจกสีตัดเป็นชิ้นเล็กๆ โดยกระจกที่ใช้ประดับใช้กระจกสีที่นำเข้าจากญี่ปุ่น แล้วนำมาต่อกันเป็นรูปร่างต่างๆ เล่าเป็นนิทานพื้นบ้านลงบนผนังสีชมพู ดูสวยงามน่ารักตามแบบฉบับชาวหลวงพระบาง

เดินชื่นชมความงามรอบๆ วัดเซียงทองได้จวบจนเวลาท้องร้องพอดี เราจึงแว่ะ ร้านอาหาร ตำหนักลาว (จะเรียกว่าแว่ะก็กระไรอยู่ จริงๆ แล้วเราให้ตุ๊กๆ พาไป พอดีว่า ร้านเขาอยู่ทางขากลับเข้าเมือง จากวัดเชียงทองพอดี…)
ร้านอาหารนี้ หนังสือคู่มือท่องเที่ยวหลวงพระบาง เขาแนะนำบอกว่า เป็นร้านอาหารที่แพงที่สุด และดีที่สุด ของหลวงพระบาง และเราไปพิสูจน์กันมาแล้วว่า…เป็นร้านอาหารที่แพงที่สุด จริง! ดีที่สุด จริง! แต่ไม่ใช่ร้านอาหารที่อร่อยที่สุด สำหรับเรา อิๆๆๆ ก็ดูสีหน้าพวกเราสิค่ะ…

นานาจิตตัง แล้วแต่ชอบ แต่มาดูใบเสร็จของเขาสิค่ะ คำนวณให้เสร็จสรรพ ให้เลือกจ่ายได้เลย ว่าสะดวกจ่ายด้วยเงินสกุลไหน…แต่ โอ้ว แม่เจ้า ชากระป๋อง ชาลิปตัน ของบ้านเรา ตกกระป๋องละ 60 บาท!!!

กินอิ่มแล้ว เดินออกจากร้าน โดยไม่คิดว่า จะกลับมาอีก… เราก็เลยไปเดินย่อยอาหารเล่นๆ ที่ริมแม่น้ำโขง เพื่อที่จะสำรวจ และถามหาข้อมูล ไปวัดจอมเพชร วัดร้าง ที่ฝรั่งท้องที่ของหลวงพระบางเขาเขียนแนะนำไว้ (อ่านรายละเอียดที่วันที่ 1 ค่ะ) จนกระทั่ง มีเรือจ้างลำหนึ่ง เขาพาไปได้ แต่ขอ 600 บาท อืม เราก็ไม่รู้นะ ว่าใกล้ ไกลแค่ไหน แต่ว่า ตามหลัก เราต้องต่อ! จนได้ราคาเป็นที่น่าพอใจ 300 บาท(ตอนยังไม่ได้ไป ไม่แพงค่ะ แต่ไปและกลับมาแล้วถึงจะรู้ว่า แพง!)

เรือรับจ้างที่หลวงพระบางเป็นเรือมีหลังคา ทำด้วยไม้เลยค่ะ แต่ว่าเขาทำเตี้ยไป…
ระยะทางไปวัดจอมเพชร หรือวัดร้างนั้น เพียงแค่ข้ามฝาก จากฝั่งด้านหลังของพิพิธภัณฑ์หลวงพระบางไปเท่านั้น


วัดร้าง อยู่เกือบบนยอดเขา ต้องขึ้นบันไดไปไกลนิดหน่อย แต่วัดร้างก็คือวัดร้างค่ะ ไม่มีอะไรเลย มีแต่สิ่งก่อสร้างที่ยังมีรูปร่างชัดเจนเพียงอุโบสถหลังเล็กและพระพุทธรูปก้นหอยสององค์ที่อยู่ด้านหลัง และมีคนขายตั๋ว (ค่าเข้าวัด 20,000 กีบ หรือ 80 บาทค่ะ) กับก็มีเด็กเต็มไปหมด!!!
ต่อจากวัดร้าง เราก็คิดว่าไม่มีอะไรแล้ว แต่เด็กๆ พยายามจะบอกและชวนพวกเราให้ไปเที่ยวถ้ำ ซึ่งอยู่ถัดไปประมาณ 100 เมตร พอถามคนเรือ แกก็บอกว่าไปได้ เด็กๆ ก็เลยนำเราเดินไป และจริงๆ แล้วเป็นอีกวัดหนึ่งค่ะ แต่ไม่ได้เป็นวัดร้าง ทราบมาว่าคือ วัดล่องคูน และ ถ้ำคูหาสักกะลิน เราเห็นพระสงฆ์กำลังช่วยกันบูรณะซ่อมแซมวัดกันเอง ส่วนค่าเข้าชมถ้ำนั้นก็คนละ 80 บาทแต่จะได้ไฟฉาย และไกด์ตัวน้อยผู้ที่จะนำทางเราไปชมถ้ำค่ะ (ไปกันเองลำพัง ต้องหลงแน่ๆ)

เห็นความสวยงามของถ้ำ พวกเรายกให้เป็นไฮไลท์ที่เที่ยวของวันนี้เลย ถ้ำคูหาสักกะสินนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เพิ่งได้รับการค้นพบใหม่เมื่อไม่นานมานี้เอง สอบถามจากชาวบ้านที่ดูแลถ้ำได้ความว่า เจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ได้อ่านพบในบันทึกเก่าว่า บริเวณนี้มีถ้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ดังนั้นจึงได้เกณฑ์พระเณรออกไปสำรวจก็พบเพียงโพรงดินเล็กๆ เท่านั้น ไม่พบเห็นมีถ้ำแต่อย่างใด ด้วยความต้องการอยากจะพิสูจน์บันทึกเก่าเล่มดังกล่าวว่าข้อมูลที่ว่าไว้นั้นเป็นจริงหรือเท็จประการใด จึงได้ให้พระ เณรและชาวบ้านในละแวกนั้นช่วยกันขุดลงไปในโพรงดินที่ได้ค้นพบครั้งแรก วันละเล็กวันละน้อย ในที่สุดก็พบว่ามีถ้ำอยู่ภายในนั้นจริง

น้องๆ ไกด์ของเราบอกว่าถ้ำนี้ประกอบไปด้วย 5 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นก็สวยงามจริงๆ ค่ะ เราดีใจมากที่ได้แว่ะชมถ้ำนี้ แม้จะโดยบังเอิญ หากสนใจแว่ะชม(ซึ่งเราก็อยากแนะนำให้ชมด้วย) รองเท้าที่สวมควรเป็นรองเท้าแบบกันลื่นจะดีที่สุดเพราะภายในถ้ำอากาศจะชื้นและทางเดินจะชันและลื่นตลอดทั้งปี

เอาล่ะ ได้เวลากลับดีกว่า ช่วงที่จะนั่งเรือกลับฝั่ง เราพยายามจะถามเรื่องทัวร์ของวันถัดไปกับพี่คนเรือ พอแกรู้ว่าเราจะไปไหนบ้าง แกก็เสนอว่า “อ้าย พาไปได้…” โดยพี่คนเรือบอกว่า แกสามารถพาเราไปถ้ำติ่ง, หมู่บ้านที่ทำเหล้าลาวและ ไปน้ำตก สามที่นี่ราคาเหมาเหมา 1600 บาท ขอข้ามไปตรงราคาที่เราต่อรองได้แล้ว คือ 1200 บาท อืม ก็คิดว่า คุ้มนะ! ถ้าเทียบกับในหนังสือที่เขาเหมารถตุ๊กๆ ประมาณวันละ 1,800-2,200 บาท เราก็เลยตกลงทัวร์วันถัดไปกับพี่คนเรือทันที!


ข้ามกลับมาบนฝั่ง ขาเดินกลับ พวกเราก็ยังไม่วาย แว่ะ เข้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง หรือ พระราชวังหลวงพระบาง อีกด้วย (เพราะกลัวว่าจะไม่มีเวลาอีกแล้ว) พระราชวังหลวงพระบาง (พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง) นี้ เปิดทุกวัน ยกเว้น วันอังคาร ค่าเข้าชม 30,000 กีบ หรือประมาณ 120 บาท โดยมีกฎระเบียบในการแต่งตัวให้เรียบร้อยด้วย (ห้ามใส่เสื้อกล้ามกับเกงกางขาสั้นมากๆ) ก่อนเข้าให้ฝากของและกล้องถ่ายรูป เพราะว่า ห้ามถ่ายรูปภายในตัวพระราชวังโดยเด็ดขาดค่ะ
ภายในพระราชวังจัดโชว์ห้องต่างๆ ของเจ้ามหาชีวิตลาว ไว้อย่างสวยงาม แต่อย่างที่บอกค่ะ ว่าเราไม่สามารถถ่ายรูปมาให้ชมได้ อย่างนี้แล้ว ต้องไปเห็นกับตาเท่านั้นค่ะ!!!

และนี่ก็คือ ทัวร์วันที่สองของพวกเราค่ะ หลากหลายตั้งแต่เช้าตรู่ จรดเย็น ติดตามอ่านต่อวันที่ 3 วันสุดท้ายของทริปในหลวงพระบาง เร็วๆ นี้….

About Jam

I'm Jam, the blogger, and illustrator of this website. I live in Bangkok, Thailand and Louisiana, USA when I'm not travelling.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *