พระมหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) เมืองย่างกุ้ง

เมื่อกล่าวถึง ชเวดากอง ซึ่งเป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองพม่ามาราว 2,600 ปี และเป็น 1 ใน 5 บูชาสถาน ที่ชาวพม่าต้องสักการะให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อสิริมงคลและเสริมบารมี…

พวกเราได้ยินเสียงเลื่องลือแห่งความสวยงามของพระเจดีย์ชเวดากองมานาน จึงไม่แปลกเลยที่พวกเราจะตัดสินใจมาเมืองย่างกุ้งเพื่อสักการะและชมความงามของพระมหาเจดีย์แห่งนี้…
เมื่อบินตรงจากสนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็มาถึงสนามบินย่างกุ้ง พวกเรามาถึงก็เวลาเกือบๆ หนึ่งทุ่ม (เวลาที่พม่าจะช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 30นาที)  ย่างกุ้งวันนี้รถติดมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ เป็นช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ทำให้กว่าจะเดินทางถึงโรงแรมก็เฉียดๆ สองทุ่มค่ะ แต่หลังจากได้เช็คอิน พร้อมเก็บสัมภาระเรียบร้อย พวกเราก็รีบออกไปที่พระเจดีย์ชเวดากองเลย (เห็นไกด์บอกว่าพระเจดีย์ชเวดากองเปิดตั้งแต่ ตีสี่ จนถึง สามทุ่มทุกวัน) เดือนกรกฎาคมนี้ เป็นฤดูฝนของที่นี่เช่นเดียวกับประเทศไทย ทำให้ฝนตกโปรยปรายตลอดเวลา แต่ถึงแม้ว่า ฝนจะตกเพียงใดและแม้จะเป็นเวลาในค่ำคืน แต่ก็ไม่อาจจะลบรัศมีเรืองรองของพระมหาเจดีย์ชเวดากองได้เลย…


ค่าเข้าชมพระเจดีย์เชดากองอยู่ที่คนละ 5,000 จ๊าด หรือ ถ้าเป็นเงินดอล์ล่าร์ เขาคิด 5.5 เหรียญ (ไม่รับเงินไทย) การเข้าชมพระมหาเจดีย์ฯ มีข้อห้ามนิดหน่อย คือ ไม่ให้ใส่กระโปรงหรือกางเกงสั้นเหนือเข่า และต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า (ถ้าใส่ถุงน่องก็ต้องถอด) เรียกว่าถอดให้หมดตั้งแต่อยู่นอกเขตวัด มีเพียงเท้าเปล่าเท่านั้นที่ได้รับอนุญาติให้เดินเข้าสู่เขตองค์พระเจดีย์ 


ทางขึ้นไปพระมหาเจดีย์ฯ มีทั้งหมดสี่ทิศค่ะ แต่ละทิศ ถ้าไม่เดินขึ้นบันไดเอง ก็มีลิฟท์ให้บริการ แต่ก็ไม่ได้สูงมาก เทียบได้กับตึกประมาณสองหรือสามชั้นค่ะ ถ้าตอนกลางวันมีร้านค้าชาวพม่าขายช่อดอกไม้ธูปเทียน รวมทั้งสินค้าบางอย่าง เช่นพระพุทธรูปแกะสลักหรือ เสื้อยืดที่ระลึกฯลฯ ด้วยค่ะ นอกจากนั้นยังมีร้านหมอดูอีกจำนวนมากตลอดสองข้างทางเดินขึ้นลงบันไดอีกด้วย 

บริเวณพระมหาเจดีย์ฯ ค่อนข้างลื่นค่ะ (เพราะฝนตก) แต่ว่าเขาจะมีแผ่นยางปูรอบพระเจดีย์ให้เดินกันลื่น (แต่เจ็บเท้ามากๆ เราเลยเดินบนพื้นหินอ่อนแบบจิกเท้าเดินกันลื่นดีกว่า…)

คืนนี้เราเดินชมแค่รอบๆ กันเอง ไม่ได้มีไกด์นำทางหรือเล่าประวัติฯ ให้ฟังค่ะ เพราะว่า ตามแพคเกจทัวร์ที่เราเตรียมไว้ เราจะกลับมาสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากองอีกครั้งในตอนกลางวัน เนื่องจากสืบทราบมาว่า ควรมาเห็นพระมหาเจดีย์ชเวดากองทั้งในช่วงกลางวัน และกลางคืน (ยิ่งตอนพระอาทิตย์กำลังตกดิน จะสวยงามมาก) ในวันต่อๆ มา พวกเราได้กลับมาที่พระมหาเจดีย์ชเวดากองในเวลาประมาณ 9 โมงเช้าค่ะ ถือว่าเป็นเวลาที่ดีพอดี และโชคดีสำหรับพวกเรา เพราะว่าฝนยังไม่ตก และยังไม่ร้อนจนเกินไปอีกด้วย


ชาวพื้นเมืองที่นี่ ผู้หญิงสวมชุดพื้นเมืองสีสันสวยงาม ด้วยผ้าถุงกับเสื้อเข้าชุดกันค่ะ ส่วนผู้ชายก็แต่งตัวเรียบร้อยเพียงแต่ดูแปลกตา เพราะว่า ผู้ชายที่นี่นุ่งโสร่งกัน

ในการมาชมพระมหาเจดีย์ชเวดากองในค่ำคืนแรก (และท่ามกลางสายฝน) พวกเรารู้สึกถึงมนต์เสน่ห์ของพระมหาเจดีย์ฯในอีกแบบ เพราะว่าสีทองของพระเจดีย์นั้น ช่างสุกสว่างผ่านแสงไฟในช่วงค่ำคืนอย่างสวยงาม แต่ครั้งที่สองช่วงตอนสายๆ ที่แสงพระอาทิตย์ตัดกับพระมหาเจดีย์นั้น เปิดโอกาสให้เราได้ทัศนาองค์เจดีย์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น


แต่การมาชมองค์เจดีย์ ครั้งที่สองนี้ (เสียค่าเข้าชมเท่าเดิมอีกครั้ง) พวกเรามีไกด์ท้องถิ่นมาด้วย ข้อดีของการมีไกด์ก็คือ ทำให้เรารู้จักกับองค์พระเจดีย์มากขึ้น โดยเฉพาะ มุมของการถ่ายภาพ ไกด์จะนำพวกเราไปตรงจุดที่ถ่ายภาพแล้วได้เห็นองค์เจดีย์ครบตั้งแต่ฐานจนถึงยอดค่ะ มิน่าล่ะ คืนแรกที่พวกเรามากันเอง ถ่ายรูปยังไง ก็ได้องค์เจดีย์ไม่ครบ ก็เพราะว่า เจดีย์ชเวดากองสูงจากฐานวัดถึงยอด มีความสูงถึง 99 เมตร ทั้งสูง และอลังการ จึงไม่แปลกเลยที่มือถ่ายรูปสมัครเล่นอย่างพวกเราไม่สามารถจะเก็บภาพความสวยจริงๆ ขององค์มหาเจดีย์ได้!!!

พระมหาเจดีย์ชเวดากองนั้นสวยงามเกินคำบรรยาย เมื่อได้พบเห็นกับตาตรงหน้า เพราะก่อนที่เครื่องบินจะลงจอดที่สนามบินย่างกุ้ง พวกเรามองเห็นเจดีย์ชเวดากองที่สุกสว่างด้วยทองคำแม้กระทั่งพวกเรายังลอยอยู่บนอากาศ เสียดายที่ถ่ายรูปไม่ทัน เพราะว่าไม่ทันคิดว่าเราจะมองเห็นพระเจดีย์ฯ จากบนเครื่องบิน!

ความสวยงามเช่นนี้เอง ที่เป็นต้นตอของเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากคนที่เคยมาสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากองที่ว่า มองไปทางไหน ก็มีแต่สีทองเต็มไปหมด…

ตามตำนาน (อ่านจากหนังสือ เพื่อนเดินทาง ฉบับ 45th Anniversary Bangkok Airways) เล่าว่า ในวันที่ 50 หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ทรงได้พบกับนายวาณิชสองพี่น้องชาวพม่านามว่า ตปุสสะ (Taphussa) และ ภัลลิกะ (Bhallika) ทั้งสองคนถวาย ข้าว ขนม น้ำผึ้งแก่พระสมณโคดม แล้วขอสิ่งแทนตัวเพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงยกพระหัถต์ขวาขึ้นลูบพระเศียร ได้เส้นพระเกศามาแปดเส้น จึงประทานแด่นายวาณิชทั้งสอง

เมื่อพ่อค้าทั้งสองเดินทางกลับมาถึงพม่า ตกอยู่ในสมัยของ พระเจ้าโอกกลาปะ (Okkalapa) ครองเมือง เมื่อทรงรู้ข่าวพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จึงจัดขบวนทหารพันนาย และจัดงานยิ่งใหญ่เพื่อต้อนรับพระเกศาธาตุทั้งแปดนี้

ตำนานเล่าสืบกันมาว่า เจดีย์ชเวดากองเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุแปดเส้นของพระพุทธเจ้า และพระบริโภคเจดีย์ของอดีตพระพุทธเจ้าสามองค์ ประกอบด้วย ธารพระกร (ไม้เท้า) ของพระพุทธเจ้าองค์ที่หนึ่ง พระธมกรก (เครื่องกรองน้ำ) ของพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง และจีวรของพระพุทธเจ้า องค์ที่สาม อีกทั้งยังมีแผ่นทองคำปิดทับเหนือที่บรรจุ

จากนั้นสถูปหรือปูชนียสถานศักดิ์สิทธ์ก็ถูกสร้างบนเนินแห่งนี้ต่อๆ กันมา เจดีย์หลายต่อหลายองค์ถูกสร้างครอบของเดิมเป็นชั้นแล้วชั้นเล่า องค์พระมหาเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงมอญสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตกอยู่ในรัชสมัยของ พระนางชินสอบู่ (Shinsawbu) ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1996-2015 พระนางทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงทรงพระราชทานทองคำน้ำหนักเท่าพระองค์คือ 40 กิโลกรัมหุ้มองค์เจดีย์


รัชสมัยต่อมาปกครองโดย พระเจ้า ธรรมเจดีย์ (Dhammazedi) ก็ทรงพระราชทานทองคำน้ำหนักสี่เท่าของน้ำหนักพระองค์เอง เพื่อซ่อมแซมบูรณะมหาสถูป จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตกทอดสู่กษัตริย์รุ่นต่อๆ มา จนกระทั่งปัจจุบันมีทองหุ้มพระเจดีย์ประมาณ 3,000 กิโลกรัม และจะมีการหุ้มทองใหม่ทุกๆ 20 ปี เพื่อบูรณะทองที่หลุดร่อนหรือบางลงอันเนื่องมากจากสภาพอากาศที่ฝนตกชุกตลอดปีในเมืองนี้


นอกจากจำนวนทองคำมหาศาลที่หุ้มองค์เจดีย์แล้ว ยอดบนสุดของตัวมหาเจดีย์ยังมีเพชรใหญ่ ถึง 72 กะรัต ไม่แน่ใจว่าใหญ่ขนาดนี้หรือเปล่าที่เรียกว่า โคตรเพชร! และยังมีอัญมณี ของประดับ ต่างหู แหวน สร้อย กำไร อันมีค่า ซึ่งไกด์บอกเราว่า ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคไว้ประดับยอดมหาเจดีย์ มองดูจากภาพในพิพิธภัณฑ์แแล้วเหมือนคลังสมบัติอันมหาศาลบนยอดเจดีย์เลยค่ะ


เจดีย์องค์ใหญ่ถูกรายล้อมไปด้วยชเวดากองจำลองจำนวน 68 องค์ ไกด์เรียกว่า Satellite Temples ทั้งยังมีพระประจำวันเกิด ที่มีสัญลักษณ์เป็นสัตว์มงคล เช่น วันจันทร์คือเสือ วันอังคารเป็นสิงห์ วันพุธกลางวันคือช้างมีงา วันพฤหัสบดีเป็นหมูนำโชค (แต่หน้าเหมือนหนูค่ะ ไกด์ยืนยันว่าเป็น หมู) เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีเทพเจ้าหลายๆ องค์รอบองค์เจดีย์ เช่น เทพองค์นี้อุ้มเด็ก มีคนมากราบไหว้มากเป็นพิเศษ ไกด์บอกว่า ถ้าใครอยากมีลูกมีหลาน ก็จะมากราบไหว้ขอพรที่เทพองค์นี้กันค่ะ

ธรรมดาแล้ว เจดีย์ชเวดากอง ไม่เคยว่างเว้นจากนักท่องเที่ยวหรือเหล่าผู้จาริกแสวงบุญ ทั้งไหว้พระ ทำบุญ นั่งสมาธิ ซึ่งบริเวณที่คนแน่นที่สุดคือ “ลานอธิษฐาน” ซึ่งปูกระเบื้องเป็นรูปดาว บริเวณที่พระเจ้าบุเรงนองมาอธิษฐานขอพรให้ได้รับชัยก่อนออกรบ แล้วได้ชัยชนะกลับมา


ส่วนระฆังใบใหญ่น้ำหนัก 23 ตัน ใบนี้มีชาวพม่าแว่ะมาถ่ายรูปด้วยตลอดเพราะมีประวัติที่น่าสนใจ ที่พระเจ้าสิงคุ (Singhu) สร้างไว้เมื่อ พ.ศ.2321 จากทอง เงิน ทองแดง ตะกั่ว และสังกะสี กระทั่ง พ.ศ.2367 ขณะที่อังกฤษยังปกครองพม่า ได้คิดนำระฆังใบนี้กลับอังกฤษ แต่เกิดจมที่แม่น้ำย่างกุ้งเสียก่อน กู้เท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น หลังจากนั้นชาวพม่าจึงร่วมแรงร่วมใจกันกู้สำเร็จแล้วประดิษฐานไว้ที่เดิม กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีที่ชาวพม่าแสนภูมิใจ ทั้งยังเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก หากตี 3 ครั้งแล้วอธิษฐานก็จะสมหวัง


การมาสักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากองแห่งนี้ สร้างความประทับใจให้พวกเราอย่างมากค่ะ เพราะไม่ใช่เพียงมูลค่ามหาศาลใดๆ ขององค์เจดีย์ แต่สิ่งที่เรามองเห็นผ่านองค์เจดีย์ไปก็คือ ความศรัทธาอันแรงกล้าในพุทธศาสนา ที่ชาวพม่าตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดาจนถึงกษัตริย์ผู้สร้างบ้านแปงเมือง เต็มใจมอบเพื่อบำรุงศาสนาต่างหากที่ประเมินค่าไม่ได้…

โปรดติดตามทริปอื่นๆของพวกเราในเมืองย่างกุ้ง (เร็วๆ นี้ค่ะ)
หรืออ่านทริปทั้งหมดของพวกเราที่ย่างกุ้ง: https://www.somethingjam.com/jammin-south-east-asia/myanmar/yangon

 

About Jam

I'm Jam, the blogger, and illustrator of this website. I live in Bangkok, Thailand and Louisiana, USA when I'm not travelling.

One thought on “พระมหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) เมืองย่างกุ้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *