วันเดียวเที่ยวทั่วปาย

English version Full Day Trip in Pai
อ่านเรื่องเล่า ไปปาย และตลาดกลางคืน แล้วหรือยังค่ะ เพราะว่า วันนี้ เราจะเสาะหาที่เที่ยวให้ทั่วปายกันค่ะ

เนื่องด้วยที่พักของพวกเราอยู่ติดตลาด และห่างไกลสถานที่เที่ยวหลักๆ ของปายไปนิด แต่อย่างที่บอกค่ะ ทางมอนทิสรีสอร์ทจะมีรถตู้บริการฟรี คือระหว่างสนามบิน, วัดน้ำฮู, บ้านจีน (ยูนนาน) และถนนคนเดิน หรือ ตลาดกลางคืน ตลอด 24 ชั่วโมง

ครึ่งวันแรกที่มาถึง ก็ขอเริ่มจากทริปใกล้ๆ และฟรีๆ ก่อน ที่หมู่บ้านจีน (ยูนนาน) และแว่ะที่วัดน้ำฮู (ทางเดียวกัน) วัดที่มีน้ำออกจากมาศีรษะพระพุทธรูป ซึ่งทั้งสองที่อยู่ทางเดียวกัน และห่างจากรีสอร์ทเพียงประมาณ 10 นาทีค่ะ

หมู่บ้านจีน หรือ บ้านสันติชล (ยูนนาน) เป็นหมู่บ้านที่ชาวจีนฮ่อ หรือ จีนยูนาน ที่อพยพมาจากมณฑลยูนานทางใต้ของประเทศจีนได้เข้ามาจับจองเป็นที่พักอาศัยกันมายาวนาน

ซึ่งเมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้ เคยมีความมั่งคั่งจากการเพาะปลูกฝิ่นซึ่งสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านเป็นอันมาก แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาถิ่นฐานในการพึ่งพาตนเองโดยไม่เพาะปลูกพืชเสพติด จึงทำให้ชาวบ้านหันมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดรายได้ เช่น การจัดจำหน่ายสิ่งของพื้นเมือง การพัฒนาพื้นที่ของหมู่บ้านให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยไม่คิดค่าเข้าชมหมู่บ้าน และยังมีที่พักค้างแรมสำหรับนักท่องเที่ยว

ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆที่นำมาจากประเพณีและวัฒนธรรมของชาวจีนยูนาน เช่นการเล่นต่าง ๆหรือ ของเล่นของชาวจีนยูนานที่สร้างความสนุกสนานให้กับนักท่องเที่ยว เช่น ชิงช้ายูนาน
ค่าเล่นชิงช้าคนละ 25 บาท (ไม่รู้ว่าได้เล่นกี่รอบ)

มีม้าไว้บริการให้ขี่ถ่ายรูปด้วยค่ะ พาจูงเดินรอบหมู่บ้าน (มีคนจูง รับรองปลอดภัย)

และถ้าใครชอบข้าวขาหมู อย่าทานอะไร จนกว่าจะได้ไปที่หมู่บ้านแห่งนี้นะคะ ก็เพราะว่า ข้าวขาหมูยูนนานที่นี่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก นอกจากจะมีข้าวขาหมูยูนนานแล้ว หมั่นโถวก็อร่อยมากๆ เรียกว่ามีคนไปเข้าแถวรอทานกันยาวเหยียดแทบทุกวันค่ะ

สวยงามดีค่ะ อากาศก็ดี วิวก็สวย…
ขากลับแว่ะ ที่วัดน้ำฮู เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่ออุ่นเมือง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทำด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 28 นิ้ว สูง 30 นิ้ว

พระพุทธรูปองค์นี้พระเศียรกลวง ส่วนบนเปิดปิดได้และมีน้ำขังอยู่ อายุประมาณ 500 ปี โดยเมื่อ พ.ศ. 2515 มีพระธุดงค์จากอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มานมัสการและสงสัยว่าข้างในพระจะมีน้ำ จึงเปิดดู และพบว่ามีน้ำจริงๆ

ข่าวนี้แพร่ออกไปก็มีผู้คนหลั่งไหลมาขอน้ำไปสักการะ พอน้ำในพระเศียรจะหมด ก็จะมีน้ำไหลออกมาอีก ในลักษณะซึมออกมาตลอดเวลา ทำให้น้ำในพระเศียรไม่มีวันหมด ทางวัดเตรียมขวดน้ำสำหรับผู้เลื่อมใสศรัทธาและต้องการน้ำมนต์ศักดิ์สิทธ์ไว้ให้ด้วยค่ะ โดยท่านสามารถบริจาคตามกำลังศรัทธาค่ะ

และนี่คือทริปฟรีๆ ที่ทางรีสอร์ทมอนทิสเขามีรถบริการให้ฟรีค่ะ ส่วนที่อื่นๆ เราต้องหาทางไปเองค่ะ ตอนแรกพวกเราก็พยายามจะหารถเช่าไว้ใช้เดินทางภายในพื้นที่ ตลอดเวลาที่พวกเราพักอยู่ที่นี่ แต่ว่า เป็นฤดูท่องเที่ยวของปาย ทำให้รถเช่าไม่ว่างเลยค่ะ และสุดท้ายพวกเราก็…

มาเป็นเด็กแว้น กับ สก๊อย กันที่ปายค่ะ รถมอเตอร์ไซต์ให้เช่าที่ตลาดในเมืองปาย ให้เช่าแค่วันละ 120 บาท พร้อมหมวกกันน็อคเหม็นๆ ฟรี สองใบ แต่ก็ดีค่ะ ได้บุกเบิกปายกันเอง…

ขับขี่กันชิวๆ อย่างระมัดระวัง ตรงดิ่งไปสะพานประวัติศาสตร์ ท่าปาย (ไกลนิดนึง เพราะว่ามีแค่สองล้อค่ะ)

“สะพานประวัติศาสตร์ ท่าปาย”
ที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดย กองทหารญี่ปุ่นได้เกณฑ์ชาวไทยจากหมู่บ้านต่างๆ ให้ขุดถางเส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานต่อคนวันละ 50 สตางค์ – 1.50 บาท ในขณะเดียวกันชาวบ้านอีกฝั่งหนึ่งจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ถูกเกณฑ์ว่าจ้างให้ขุดถางเส้นทางมุ่งหน้าไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยมาบรรจบกันที่ฝั่งแม่น้ำ บริเวณบ้านท่าปาย อำเภอปาย แล้วจึงร่วมแรงกันใช้ช้างลากไม้ใหญ่หน้า 30 นิ้ว ออกจากป่า ตั้งเป็นเสาสร้างขึ้นเป็นสะพาน กลายเป็นเส้นทางและสะพานแห่งประวัติศาสตร์สงคราม

พ.ศ. 2489 สงครามสิ้นสุด กองทหารญี่ปุ่นได้ถอยทัพกลับ และทำการเผาสะพานไม้ทิ้ง ชาวบ้านซึ่งเคยใช้สะพานจึงร่วมกันสร้างสะพานไม้ขึ้นมา เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำปายอีกครั้ง
พ.ศ. 2516 เกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในเดือน สิงหาคม ส่งผลรุนแรงทำลายเรือกสวนไร่นาเสียหาย รวมทั้งน้ำป่าได้พัดสะพานไม้หายไป ทางอำเภอปาย ได้ทำเรื่องขอสะพานนวรัฐเดิม ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ใช้การแล้ว นำมาใช้แทนสะพานไม้ที่ถูกกระแสน้ำป่าพัดทำลาย


พ.ศ. 2518 นำสะพานนวรัฐจาก จังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกทยอยย้ายขึ้นมาประกอบใช้ใหม่ หลังจากนั้น 1 ปีเต็ม จึงได้ประกอบขึ้นจนแล้วเสร็จ เป็นสะพานประวัติศาสตร์ท่าปายในปัจจุบันได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอำเภอปายอยู่เป็นประจำ

มีของขายด้วยนะคะ รู้สึกเหมือนมาสะพานข้ามแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี O_o

ขากลับ เราแว่ะ ที่ปายแคนยอน หรือว่า กองแลน ซึ่งห่างจาก สะพานประวัติศาสตร์ 10-15 นาที
ปายแคนยอน เป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเกิดจากการยุบตัวของดินที่อยู่ตามหุบเขา จนเป็นทางเส้นเล็ก ๆ บนสันเขา (เหมือนแพะเมืองผี จ.แพร่) สัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ สามารถสัญจรบนเส้นทางเล็ก ๆ นี้ได้ เลยเป็นที่มาของคำว่า กองแลนค่ะ
เพราะว่า กอง แปลว่า ทางเดินเล็กๆ ส่วน
แลน แปลว่า สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ ค่ะ

บรรยากาศด้านบนปายแคนยอนอากาศเย็นสบาย เพราะอยู่บนเทือกเขาสูง นักท่องเที่ยวสามารถชมความสวยงามของธรรมชาติที่มองไปจนสุดสายตาบนปายแคนยอนนี้

ณ จุดนี้ เสียวตกค่ะ เพราะว่าทั้งสูง และแคบ แอบลื่นอีกด้วย…

ขากลับไม่แว่ะ เห็นจะไม่ได้ “คอฟฟี่ อิน เลิฟ” ตอนแรกไม่เข้าใจว่าทำไม เขาถึงได้เอาร้านกาแฟ มาเป็นจุดขายทัวร์กัน และก็ไม่เข้าใจอีกด้วยว่า ทำไมคนมาเที่ยวที่ปาย ต้องมาถ่ายรูปที่ป้าย Coffee in Love ด้วย!

แต่เพื่อความกระจ่างแจ้ง เราก็ต้องแว่ะค่ะ และพบว่า นักท่องเที่ยวเยอะมาก เยอะกว่าที่ปายแคนยอนซะอีก คนส่วนใหญ่มากันเป็นคู่ๆ เพื่อถ่ายรูปกับป้ายหน้าร้าน (ถ้าจะให้ขลัง ต้องถือแก้วกาแฟที่ซื้อมาจากในร้านด้วยค่ะ)

พวกเราก็ทำตามกระแสเลยค่ะ ถ่ายรูปก่อนเลย หลังจากนั้นก็แว่ะเข้าไปในร้านกาแฟ (ลูกค้าในร้านไม่ค่อยมีค่ะ ส่วนใหญ่จะยืนถ่ายรูปกันอยู่ที่ป้าย)

เราสั่งมอคค่า กับชาดำเย็น พร้อมด้วยสตรอเบอรรี่ชีสเค้กมาลองทาน บรรยากาศในร้านเขาดีจริงๆค่ะ สตรอเบอรรี่ชีสเค้กก็สดและหวานมันมาก ราคาทุกอย่างก็ตกอย่างละ 50 บาท(++)

อิ่ม อร่อย ทั้ง กาแฟ และบรรยากาศ ด้านหน้าของร้าน Coffee in Love มีของที่ระลึกขายด้วยนะคะ คล้าย กับที่ สะพานประวัติศาสตร์ท่าปายค่ะ ใส่ภายในร้านเขาก็มีของที่ระลึกขายด้วยเช่นกัน ราคาออกแนวไฮโซเพราะว่าของเขาไม่เหมือนใครค่ะ…

ขี่มอเตอร์ไซต์รอบปายก็ดีไปอย่างนะคะ เรายังได้แว่ะชมโน่นชมนี่ตลอดทาง ส่วนที่ที่พวกเราประทับในที่สุดในการท่องเที่ยวปาย ก็คือ ถ้ำลอด แต่ว่า การไปถ้ำลอดนั้น ไม่สามารถไปกันอย่างเด็กแว้นหรือสก๊อยได้ค่ะ…

อ่านทริปทั้งหมดที่ปายได้ที่ ปาย – แม่ฮ่องสอน

If you enjoyed this post please share it with your friends – it only takes a second but it makes a huge difference to me!

About Jam

I'm Jam, the blogger, and illustrator of this website. I live in Bangkok, Thailand and Louisiana, USA when I'm not travelling.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *