ประสบการณ์ฝ่าพายุ ไอดา เฮอริเคนระดับ 4 ปี 2021 ที่รัฐหลุยเซียน่า

ประสบการณ์อยู่บ้านฝ่าพายุไอดา (Ida 2021) พายุที่มีความรุนแรงสูงสุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รัฐหลุยเซียน่า บ้านเราน้ำท่วม จรเข้อาละวาดจริงหรือไม่!!!

(English)

และทุกครั้งที่มีพายุเข้าที่หลุยเซียน่า (ซึ่งก็มีเข้าทุกปี แต่จะหนักหรือเบาเท่านั้นเอง) หน้าที่พวกเราก็คือย้ายของทุกอย่างที่อยู่นอกบ้านเข้ามาภายในบ้าน หรือ อยู่ใต้ชายคาบ้านให้มากที่สุด ส่วนเรือนั้นก็จะชักรอกให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่า น้ำอาจจะท่วมสูง บางบ้านที่ไม่มีที่จอดเรือ เขาก็จะเอาเรือขึ้นฝั่งกันไป

ตอนที่ไอดาเข้า ก็มีการพูดถึงและประกาศเตือนกันเกือบอาทิตย์ แบบพูดถึงกันเบาๆ แบบมันจะเข้ามาที่รัฐเรานะ แต่ยังไม่สามารถจะบอกทิศทางว่าจะผ่านตรงไหนบ้าง จนประมาณสี่วันก่อนที่ พายุไอดา จะเข้าถึงฝั่งนั้น เขาก็เริ่มบอกได้แล้วว่าจะผ่านเมืองไหนบ้าง แล้วจะหนักหนาขนาดไหน จะเป็นพายุโซนร้อน หรือ พายุเฮอริเคน ซึ่งคร่าวๆ เขาก็บอกว่า ร้ายแรงมาก น่าจะเป็น พายุเฮอริเคน ความแรงระดับ4 ซึ่งที่หลุยเซียน่าเคยมีพายุคาทริน่า เมื่อปี 2005 ประมาณ 16ปีที่แล้ว ทึ่ความแรงเกินระดับ5 หรือ ระดับที่ร้ายแรงที่สุด ตอนนั้น ถือเป็นความสูญเสีย อันยิ่งใหญ่ของหลุยเซียน่าเลยก็ว่าได้ ประเด็นคือ มันดันเกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือวันที่ 29 สิงหาคม !!!

ตอนแรกไอด้านั้น เป็นพายุโซนร้อนธรรมดา จนกระทั่งพัดผ่าน ประเทศคิวบา และน่านน้ำอ่าวแมกซิโก ก็มีความรุนแรงมากขึ้น ช่วงที่เขาประกาศให้เตรียมตัวนั้น เพื่อนๆ ญาติๆ ที่อยู่ต่างรัฐ หรือต่างประเทศยังไม่ค่อยถามไถ่ แต่พอมันเข้ามาใกล้ๆ จนเริ่มบอกระดับความแรงแล้ว ก็เริ่มเป็นข่าวดังทั่วโลก พอจะเริ่มมีคนถามไถ่ แต่ก็เป็นวันเกิดพายุที่นี่พอดี…

ระดับความแรงของพายุเราอาจจะคาดการณ์บอกได้ แต่ระดับความความกลัวของพวกเราไม่รู้จะวัดจากอะไรดี …


*ก่อนพายุไอดาจะเข้าถึงพวกเรา เลย ทำเค้กไว้กินตอนไฟดับ555

พอตอนที่เริ่มรู้ว่าเป็นพายุความแรงระดับ 4 ซึ่งเป็นความแรงที่พังทลายบ้านเรือนนั้น พวกเรา ก็เริ่มหายใจเฮือกๆ เพราะเคยมีประสบการณ์บ้านพังทั้งหลังจากคทริน่ามาแล้ว

เราถามทิมว่า กลัวไหม? ทิมบอกว่า กลัวสิ แต่อยากให้ทุกอย่างมันผ่านพ้นไปไวๆ ทิมตอบด้วยสีหน้าแบบเครียดนะ ดูออก


กลัวแล้วทำไมเราไม่อพยพ???…

ถ้าเราจะอพยพ ต้องรีบไปตั้งแต่วันแรกๆ ที่เขาบอกว่า พายุนี้จะเป็นพายุที่รุนแรง จะมารออพยพวันใกล้ๆ พายุจะเข้ามานั้น ต้องทำใจกับรถติด แล้วจะบินหนีนี่แทบทำไม่ได้เลย เพราะช่วงที่มีพายุไอดา คนอพยพเยอะ แถมเที่ยวบินประกาศยกเลิกทุกเที่ยวบิน คนต้องเสียเวลาไปสนามบิน แล้ว หาทางออกมาอีก…


*ภาพสนามบิน MSY ที่นิวออลีนส์ ก่อนและหลังที่สนามบินจะประกาศยกเลิกสายการบินทุกเที่ยวบิน (ภาพ WDSU)

ไม่รู้ว่าจะต้องขอบคุณใคร หรือ กรมฯอะไรของอเมริกา แต่เขาคำนวนได้ แม่นยำมากๆ ถึงแม้ว่า ไอดา จะมีการเปลี่ยนทิศทางอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากเกินจากที่พวกเราคาดการณ์ไว้ การเตรียมการ การแจ้งเตือน แม้แต่การพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือถ้าเกิดเหตุร้าย และการเยียวยาหลังจากการเกิดพายุฯ คือเขาทำกันได้แบบยังกับหนังฟอร์มยักษ์จริงๆ แถมอัพเดทข้อมูลกันนาทีต่อนาที ทำงานกันทุกหน่วยงาน ตั้งแต่ สส ผู้ว่า ตำรวจ นักดับเพลิง ฯลฯ

*ภาพการพยากรณ์พายุที่ทำให้เราตัดสินใจอยู่บ้าน ไม่ได้อพยพ เพราะจุดศูนย์กลางไม่ได้ผ่านเราโดยตรง

แต่….ในสถานการณ์จริงๆ ไฟดับตั้งแต่พายุไอดา ยังมาไม่ถึงเมืองเราเลย มือถือติดต่อใครไม่ได้ แต่ข้อมูลหรือ ทุกอย่างที่เราได้ในช่วงเตรียมการก็ถือว่ามีประโยชน์มากๆ ทีเดียว

ยังดีตรงที่เขาบอกได้ว่า พายุฯ จะถึงตรงไหนกี่โมง แล้ว กี่โมง จะผ่านบ้านเราไป ทำให้มีเวลาเตรียมตัว อย่างคนที่มีบ้านอยู่ในเส้นทางของไอดา ก็เตรียมอพยพได้เลย แต่ถ้าคนที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียง ก็จะเตรียมตัวกันอยู่สู้โดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความพร้อมที่ตัวเองมี เราก็อยู่กับสถานการณ์ที่มีความหวังว่า แค่อีกไม่กี่ชั่วโมงเราก็น่าจะรอดนะ …555
บ้านพวกเรานั้นอยู่ตรงทะเลสาปหลักของรัฐฯ ก็แอบกลัว เพราะข่าวที่เราได้ยินคือน้ำจะสูงประมาณ 7-11 ฟุต หรือประมาณ2-3 เมตรจากระดับน้ำปกติ ซึ่งเราก็ลองวัดกันว่า น้ำจะสูงประมาณไหน จะถึงบ้านไหม หรือยังไง


*วันเกิดพายุ ผ่านเขตบ้านพวกเราด้วย ความรุนแรงระดับ 3 และ ระดับ 2 ตามลำดับ ถ้าขยับมาทางขวาอีกนิด บ้านเราคงพังทั้งหลังแน่ๆ
(Map: Wunderground.com)

ช่วงที่น่ากลัวที่สุดของไอดาในแถวบ้านเราคือ ช่วงประมาณ 1-3ทุ่ม เรียกว่า ทั้งฟ้า ทั้งฝน ทั้งลม ประดังเข้ามาทุกทิศทางเลย ขนาดโรงจอดรถที่ปิดสนิท ลมยังตีกับประตู แล้วประตูดันรถให้ถอยหน้าถอยหลัง น่ากลัวมาก ยังคิดว่าลมแรงแบบนี้ ถ้าเป็นที่ประเทศไทย หลังคาสังกะสีคงปลิวกันว่อนแล้ว

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังไอดาพัดผ่าน เราตื่นมาเช็ครอบบ้าน บ้านเราถือว่าเสียหายน้อยมาก ต้นไม้มีหักบ้างแต่ก็แค่กิ่งเล็กกิ่งน้อย มีหลังคาหลุดไม่กี่แผ่น น้ำรั่วเข้าห้องรับแขกจนพรมเปียก สรุปความเสียหายเราน้อยนิดมากๆ ถ้าเทียบกับเมืองอื่นที่โดนพายุพัดผ่านแบบเต็มๆ…บ้านฝรั่ง แม้จะเก่า แต่ก็แข็งแรงจริงๆ นะ

บริเวณท่าน้ำหลังบ้านของพวกเรา ถ้าลงไปยืน ก็ลึกประมาณ1 เมตรกว่าๆ  (4ฟุต)


แต่เรามีชานเล่นระดับด้วย…ปกติฝนตกหนักแค่ไหน น้ำก็ไม่เคยท่วมถึงระดับนี้…


ส่วนถนนหน้าบ้าน ตรงตัวถนน ก็ลึกเหมือนกัน รถเล็กๆ ผ่านไม่ได้…

ตอนแรกเราก็คิดว่า เราอยู่กันได้ ถ้าสมมุติ ไฟดับ น้ำท่วม ไม่มีใครสามารถเข้าถึงเราได้ เราสามารถ ดำรงชีวิตกันได้ แบบ ชิวๆ 7 วัน แบบไม่ขาดน้ำหรืออาหารแน่นอน (ไม่รู้ดูหนังเยอะไปหรือเปล่า แต่มันก็ตื่นเต้น และ ท้าทายดี) แต่ปรากฎว่า แค่คืนเดียวก็จะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะร้อนมาก เปิดหน้าต่างก็ไม่ได้ ลมพัดแรง ยุงก็เยอะ แถม แบตเตอรี่มือถือถึงจะมีอยู่แต่ ก็ไม่มีไวไฟ หรือแม้แต่จะใช้ แพจเกจจากมือถือ ก็อืดยืด และไม่มีสัญญาณสะงั้น การอยู่กันแบบไม่มีแม้แต่วิทยุจะฟัง ก็เงียบและน่าเบื่อดี ไม่รู้ว่า ถ้าพายุเกิดยาวนานกว่านี้ เราจะเบื่อกันเอง หรือ จะชินไปเอง…

สิ่งที่ผิดหวังกับที่นี่ที่สุดคือ ไฟดับ ดับตั้งแต่ พายุยังไม่เข้าถึงพื้นดินเลย ดับไปสะงั้น ดับสะไม่ทันตั้งตัว ถึงจะมีฝน มีลม แต่ฟ้ายังสว่างอยู่เลย ทั้งที่เขาว่า พายุจะเข้าพื้นที่ประมาณ บ่ายโมง และ เริ่มรุนแรงมากขึ้นประมาณ ห้าโมงเย็น แต่ไฟดับตั้งแต่ยังไม่เที่ยง

แถมบริษัทที่ได้สัมปทานดูแลไฟฟ้า ก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่า ไฟฟ้า จะกลับมาปกติเมื่อไร…สรุปเรารอไฟฟ้ากัน 5 วันเต็ม ๆ ห้าวันห้าคืน ที่มีปลั๊กไฟอันเดียวทีเพื่อนบ้านแบ่งให้ใช้ (ต่อพ่วงไม่ได้) สลับใช้ปลั๊ก ไปชาร์ทมือถือ ไปต้มกาแฟ ไปอุ่นอาหาร เปิดพัดลมนอนตอนกลางคืน…

เดินเข้าห้องน้ำ เปิดไฟทุกครั้ง แต่ไฟไม่ติด 555 อยู่แบบไม่มี wifi ไม่มี Netflix ไม่มี youtube แต่ก็วาดรูป เล่นการ์ด (ไพ่) อ่านหนังสือกันไปวันๆ บนความหวังว่าไฟฟ้าจะมา รอกันแบบนาทีต่อนาที…

มีเน็ตบนมือถือ แต่เราก็พยายามใช้แค่ตอนจำเป็น เช่นอ่านข่าว ว่าไฟจะมาเมื่อไร…

บ้านอื่นที่เขาเลือกจะอยู่ที่บ้าน เพราะเขาจะมีเครื่องปั่นไฟกัน (แต่บ้านเราไม่มี พวกเราเพิ่งกลับมาจากทำงานที่เกาหลีแค่ ห้าเดือนเอง เราไปอยู่ไทย 9ปี อยู่เกาหลี 3 ปี เลยไม่ได้ซื้อเก็บไว้)

การนอน และ ตื่น มาอยู่กับเสียงและกลิ่น ของการปั่นไฟ ของเพื่อนบ้าน ที่ทั้งเสียงดังและกลิ่นเผาไหม้กลิ่นแรงมาก ไม่ดีเลย เรามีอาการหูตึงไปสองสามวันเลยทีเดียว


*ภาพ ก่อนและหลังเกิดพายุไอดา ที่หลังบ้าน (ซ้าย) และถนนหน้าบ้าน (ขวา) ของพวกเรา

ของในตู้เย็น มีอายุอยู่ได้ แบบไม่มีไฟ คือนานสุดประมาณ 2-3 วัน วันที่สามของในช่องแช่แข็งก็เริ่มละลายหมดแล้ว โชคดีเรามีตู้ทำน้ำแข็ง ซึ่ง น้ำแข็งในตู้ สามารถอยู่ได้ประมาณ 4-5วัน (ละลายเกือบหมดคือวันที่ 5)


กินกันจนตัวกลมเลย เพราะว่าเสียดายของในตู้เย็น…(ภาพตู้เย็น กับ ตู้ทำน้ำแข็ง เกลี้ยงเลย…)

อย่าลืมว่ารัฐหลุยเซียน่า เป็นรัฐที่ร้อนที่สุดในลำดับต้นๆ ของอเมริกา ตอนกลางคืน ถึงมีพัดลมตัวนึงก็นอนไม่ค่อยหลับ เพราะร้อนมาก

แม้ว่าเมืองหรือชุมชนที่เราอยู่ จะมีน้ำขึ้นสูง และท่วมถนนหน้าบ้าน แต่ก็น้ำก็ลดไวมาก แค่วันเดียว น้ำตรงถนนก็แห้งแล้ว ส่วนน้ำหลังบ้าน ใช้เวลาประมาณ 3วัน

เราขับรถออกไปดูข้างนอก ไฟดับกันทั้งเมือง มีต้นไม้ล้มทับสายไฟบ้าง แต่มันไม่น่าจะกระทบวงกว้างขนาดนั้น

สัญญาณไฟจราจรก็ดับ แต่ฝรั่งเขาดีอย่างหนึ่ง ตรงที่เวลาไฟจราจรพังเขาจะขับรถกันแบบ มีป้าย stop ติดตั้งสี่ด้าน คือใครมาถึงก่อนก็ได้ไปก่อน หรือถ้ามาถึงพร้อมกัน รถทางขวาได้ไปก่อน…มีวินัยกันมากจริงๆ

น้ำปะปาที่นี่เป็นสิ่งเดียวที่ยังปกติ แต่ประมาณวันที่ 4 น้ำเริ่มอืดๆ เหมือนจะไม่ไหลลงท่อ โดยเฉพาะที่อ่างล้างจาน

รถขยะ เริ่มวิ่งประมาณวันที่ 3 หลังจากเกิดพายุ แต่มาเก็บถึงบ้านเราจริงๆ คือประมาณวันที่ 6 (ปกติมาวันอังคาร กับ ศุกร์ แต่พอมีพายุ มาเก็บวันเสาร์วันแรก)

รถไปรษณีย์ USPS เริ่มวิ่งประมาณวันที่ 5หลังพายุฯ แต่ UPS, FedEx หรือ Amazon Prime เริ่มกลับมาเป็นปกติประมาณวันที่ 9/8 หรือประมาณ 10วันหลังพายุ

ส่วน ปั้มน้ำมัน นั้นปิดยาว ในบางปั้มน้ำมันที่มีบัตรสมาชิกถึงจะเติมได้ ก็แถวยาว เพื่อนบ้านเราไปต่อแถว และใช้เวลารอคิวนานเกือบสองชั่วโมงกว่าจะได้น้ำมัน (คนส่วนใหญ่ต้องการน้ำมันเพื่อเอาไปปั่นไฟใช้ในบ้านกัน)

ส่วนปั้มน้ำมันทั่วๆ ไป ปิดยาว กว่า 10วัน

แก๊สแบบถัง (propane) สำหรับคนที่หุงต้มด้วยแก๊ส หรือ ปั่นไฟด้วยถังแก๊สนั้น 2-3 วันแรก ยังขาดตลาด แต่ก็เริ่มมีบริการเติมแก๊สในวันที่ 4

ร้านค้า ซุปเปอร์มาเก็ต เริ่มเปิดขายประมาณวันที่ 2 หลังจากพายุไอดาพัดผ่าน  แถวบ้านเราWinn Dixie น่าจะมีไฟสำรองเยอะสุด เปิดก่อนใคร แต่ก็มีสินค้าไม่เยอะ พวกอาหารสด เนื้อสด ไข่ไก่ น้ำ ไม่มีเลย แต่เหล้าเบียร์ ช็อคโกแลตเพียบ 555


*Winn Dixie เปิดให้บริการหลังพายุไอดาผ่านไปสองวัน คนแน่นเลย


*Walmart Market ใกล้บ้านเรา เปิดขายประมาณวันที่ 3 หลังจากพายุไอดา

น้ำกับน้ำแข็ง ก็เป็นสินค้าที่หายากไม่แพ้ น้ำมัน กับแก๊ส เลย

ร้านอาหารเริ่มเปิด แต่บางร้านรับเฉพาะเงินสดเท่านั้น เพราะเครื่องรูดบัตรต้องใช้ไฟฟ้า…

ร้านอาหารจำพวกฟาสต์ฟูดมีเปิดบ้าง แต่แถวยาวเหยียด เพราะนอกจากไม่มีไฟฟ้าแล้ว ยังไม่มีพนักงานอีกด้วย…

ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ เลยจริงๆ ประมาณ 2 อาทิตย์หลังจากเกิดพายุไอดา

ข่าวอีกข่าวที่น่ากลัว (รองลงมาจากข่าว การสูญเสียชีวิตของผู้คนจากพายุไอดา) คือข่าวจรเข้อาละวาด และคาบลุงฝรั่งไปต่อหน้าต่อตาภรรยา เราก็ติดตามข่าวเพราะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เราอยู่ จนแล้วจนรอดก็ยังไม่พบร่างของลุงอีกเลย https://www.nola.com/news/article_474367d0-0a04-11ec-a07a-f3b6d310d9f5.html


ใช่ค่ะ ที่บ้านเรามีจรเข้ เวลาน้ำขึ้นเราต้องคอยดูน้องหมา น้องแมว เพราะจะโดนคาบไปรับประทานไหม แต่หลังๆ นี่ รู้สึกมันจะเริ่มคาบคนกันค่ะ…น่ากลัว

สิ่งที่ดีที่สุดคือในการเกิดเหตุการณ์นี้ก็คือ เราสองคนไม่มีใคร ตื่นตระหนก ไม่มีใครโวยวาย ไม่โทษกันเอง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ก็พยายามฟังข่าว เชื่อข้อมูลข่าวสารที่ได้มาแล้วคำนวนความน่าจะเป็นกับบ้านเรา ใจหนึ่งก็แอบกลัว ว่าถ้ามันไม่เป็นไปตามที่เขาบอกล่ะ เพราะเราก็อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของเฮอริเคนไม่กี่ไมล์เอง ถ้าเกิดมันหักมุมแค่นิดเดียวก็มาทางบ้านเรา เราก็เสี่ยงเหมือนกัน ก็นับว่าโชคดี ที่ข้อมูลที่เราเชื่อถือมีความถูกต้องค่อนข้างสูง

ไอดา มีเส้นทางยาวไกล แม้จะมีความรุนแรงสูงที่รัฐหลุยเซียน่า แล้วลดความรุนแรงลงแต่เดินทางยาวไปจนถึงนิวยอร์ค ทำให้ฝนตกหนักและมีน้ำท่วมฉับพลันหลายท้องที่….

“ในส่วนที่เราเขียนนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่บ้านและชุมชนใกล้เคียงเท่าที่เราประสบพบเจอเท่านั้น อย่างไรเสีย ขอแสดงความเสียใจกับบางครอบครัวที่ต้องสูญเสียบ้านและคนที่รักจากพายุไอดาด้วยค่ะ”

ลิสต์ รายการที่เราอยากได้ไว้หลบพายุครั้งหน้า

เครื่องปั่นไฟ แบบแก๊สธรรมชาติ และหรือ แบบ พลังงานแสงอาทิตย์
Icebreezer เหมือนทำแอร์จากน้ำ น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง
จาน ชาม กระดาษ (จะได้ไม่ต้องล้างจาน เพราะวันหลังๆ น้ำเริ่มไม่ไหลลงท่อ)
ถังน้ำมันสำรอง (ไว้เติมรถยนต์)
วิทยุแบบใช้ถ่าน
Save หนังลงคอมฯ ไว้ดูช่วงที่ไม่มี wifi
LED light แบบใช้ถ่าน
อยากได้ประทัดด้วย ไว้จุดไล่จรเข้…

About Jam

I'm Jam, the blogger, and illustrator of this website. I live in Bangkok, Thailand and Louisiana, USA when I'm not travelling.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *